Friday, 5 July 2024
THE TOMORROW

27 มีนาคม พ.ศ. 2454 ‘ในหลวง ร.6’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘กรมศิลปากร’ เป็นครั้งแรก ‘ดูแลคุ้มครอง-อนุรักษ์-เผยแพร่องค์ความรู้’ ด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ

ในทุกวันที่ 27 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่สำคัญยิ่งสำหรับบุคลากรที่ทำงานในหน่วยงานที่สังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เพราะเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกการช่างจากกระทรวงโยธาธิการและกรมพิพิธภัณฑ์จากกระทรวงธรรมการ ที่ตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มารวมไว้ด้วยกันเป็นกรมใหม่ และพระราชทานนามว่า ‘กรมศิลปากร’ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2454 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมศิลปากรคนแรก

ต่อมา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบกรมศิลปากร โดยรวมเข้ากับราชบัณฑิตยสภาและเรียกกรมศิลปากรว่า ‘ศิลปากรสถาน’ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2469 แต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ได้มีประกาศพระราชบัญญัติตั้งกระทรวงและกรม เมื่อ พ.ศ.2476 จัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นมาใหม่ โดยให้สังกัดกระทรวงธรรมการ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 ด้วยเหตุนี้ กรมศิลปากรจึงได้กำหนดเอาวันที่ประกาศจัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นมาใหม่ เป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากร ในเอกสารจดหมายเหตุ ชุด กระทรวงศึกษาธิการ ศธ.0701.9.6/4 เรื่อง วันสถาปนากรมศิลปากร พ.ศ. 2496 ได้กล่าวถึงการจัดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากร ในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 ภายในเอกสาร มีการกล่าวอวยพรข้าราชการในกรมศิลปากร โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น มีการจัดงานทำบุญ และเชิญพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ช่วงท้ายของงานมีการจัดรายการนิยายอิงประวัติศาสตร์ประกอบดนตรีไทยออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง เรื่อง ราเมศวร ซึ่งเอกสารชุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงการจัดงานระลึกวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากรในช่วงเวลานั้น

ใน พ.ศ. 2522 นายเดโช สวนานนท์ อธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้น ได้มอบหมายให้กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับประวัติกรมศิลปากรใหม่ และในที่ประชุมกรมศิลปากร เมื่อวันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 จึงมีมติให้กำหนดวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากร โดยยึดตามวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนากรมศิลปากรขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งก็คือ วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2454 นับตั้งแต่นั้น วันที่ 27 มีนาคม ของทุกปี จึงกลายเป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากร

เนื่องในโอกาสครบรอบ 113 ปี วันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากรใน พ.ศ. 2567 กรมศิลปากรในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล คุ้มครอง อนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติมาอย่างยาวนาน ด้วยคุณูปการที่หน่วยงานแห่งนี้สร้างเอาไว้ ทำให้ในวันที่ 27 มีนาคม ของทุกปี จึงเป็นวันที่ชาวกรมศิลปากรจะระลึกถึงการก่อตั้งกรมศิลปากร หน่วยงานที่เป็นเสาหลักในการธำรงไว้ซึ่งมรดกวัฒนธรรมของชาติ ให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญทางศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไป


ที่มา : https://www.nat.go.th/%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94/ArticleId/964/-1-2-3-4-5-6-7-8-9-10-11-12-13-14-15-16-17-18-19-20-21-22-23-24-25-26-27-28-29-30-31-32-33-34-35-36-37-38-39-40-41-42-43-44-45-46-47-48-49-50-51-52-53-1-2-3-4-5 

26 มีนาคม พ.ศ. 2459 ‘ในหลวง ร.6’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ มหาวิทยาลัยไทยแห่งแรกที่มีการศึกษาแบบตะวันตก ตามพระราชดำริ ‘ในหลวง ร.5’

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นการก่อกำเนิดมหาวิทยาลัยครั้งแรกในเมืองไทยที่มีการศึกษาตามแบบตะวันตก ถือกำเนิดจากโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น ณ ตึกยาวข้างประตูพิมานชัยศรีในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2442 และได้รับพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก เมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2445

ทั้งนี้เพื่อผลิตบุคลากรให้รับราชการ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระบรมราโชบายในสมเด็จพระบรมชนกาธิราชที่จะ “ให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นสำหรับเป็นสถาบันอุดมศึกษาของชาวสยาม” พอที่จะช่วยให้กิจการปกครองท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยดำเนินไปได้

เมื่อสมควรขยายการจัดการศึกษาเพื่อสนองความต้องการของ กระทรวง ทบวง กรมอื่น ๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็นสถาบันอุดมศึกษา พระราชทานนามว่า ‘โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ เมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2453

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์แน่ชัดในการตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นในอนาคต เห็นได้จากพระราชดำรัสที่พระราชทานในวันก่อศิลาพระฤกษ์โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ 3 มกราคม พ.ศ. 2458 ทรงดำรัสไว้ว่า

“วันนี้เรายินดีที่ได้รับเชิญให้มาวางศิลาฤกษ์สำหรับมหาวิทยาลัยนี้ เพราะเป็นกิจอันหนึ่งซึ่งเราปรารถนาอยู่นานแล้ว ที่จะยังให้เป็นผลสำเร็จตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงพระราชปรารถนามานานแล้วในเรื่องที่จะให้มีมหาวิทยาลัยขึ้น สำหรับเป็นสถานอุดมศึกษาของชาวสยาม…ตัวเราเป็นรัชทายาท จึ่งรู้สึกเป็นหน้าที่อันหนึ่งที่จะต้องทำการนั้นให้สำเร็จตามพระราชประสงค์…เรามีความยินดีที่ได้เห็นการดำเนินล่วงมาได้มากแล้ว ในบัดนี้เราได้วางศิลาฤกษ์ด้วยความหวังที่ได้เห็นแลความดีงามในอนาคตกาลแห่งมหาวิทยาลัยนี้”

ในปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 พร้อมกับโอนมหาวิทยาลัยแห่งนี้ไปขึ้นกับกระทรวงธรรมการในวันเดียวกัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2460 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมมหาวิทยาลัยขึ้นอีกกรมหนึ่ง ขึ้นตรงต่อกระทรวงธรรมการ มีตำแหน่งหัวหน้าเป็นชั้นอธิบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นกับกรมนี้ โดยมี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยเป็นพระองค์แรก และมีพระยาอนุกิจวิทูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนแรก (ต่อมาตำแหน่งนี้เปลี่ยนไปเรียกเป็นอธิการบดี ตั้งแต่ พ.ศ. 2478 เป็นต้นมา)

25 มีนาคม พ.ศ. 2434 ‘ในหลวง ร.5’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้ง ‘กระทรวงยุติธรรม’ ปรับโฉมระบบยุติธรรมไทยให้ทันสมัย - แก้ปัญหาพิจารณาคดีล่าช้า

ประเทศสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 บ้านเมืองเกิดปัญหาต่าง ๆ มากมายในกระบวนการพิจารณาคดีความ ทำให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นไปอย่างยากลำบาก จนนำไปสู่วิกฤตทางการศาลขึ้น โดยสาเหตุหลักมาจาก 

1. ความไม่เหมาะสมของระบบการศาลเดิมที่ขึ้นตามกระทรวงต่าง ๆ ทำให้เกิดความล่าช้าสับสน

2. ความไม่เหมาะสมของวิธีพิจารณาความแบบเดิม ที่มีวิธีการพิจารณาและพิพากษาคดี รวมถึงขอบเขตการลงโทษที่ไม่เหมาะสม

3. ความบีบคั้นจากต่างประเทศในด้านการศาล สืบเนื่องมาจากการมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของชาวต่างชาติ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงในเอกราชของไทย

ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้ระบบยุติธรรมในสยามมีประสิทธิภาพ มีความเหมาะสม และสามารถบังคับใช้ได้แก่ประชาชนทั่วไปในสยาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2434 โดยมีการรวบรวมศาลต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายเข้ามาในระบบภายใต้การควบคุมของกระทรวงยุติธรรม และกำหนดรูปแบบวิธีพิจารณาและพิพากษาคดีขึ้นใหม่อีกด้วย

‘อ.พงษ์ภาณุ’ แนะรัฐหาแรงจูงใจเอกชน ลุยธุรกิจลดโลกร้อน ปั้นระบบนิเวศให้พร้อม สู่การสร้างเงินจากสภาพภูมิอากาศ

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'การเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ' (Climate Finance) เมื่อวันที่ 24 มี.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) โดยการเก็บภาษีคาร์บอน และการใช้กลไกตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต จะเป็นกุญแจสำคัญสู่เป้าหมาย Net Zero แต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกสีเขียว (Green Transition) ได้อย่างราบรื่นจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากภาคการเงินการคลังไม่ช่วยระดมทรัพยากรมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และเทคโนโลยี ที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว

ประการแรก ด้วยข้อจำกัดของทรัพยากรของรัฐบาล เงินลงทุนส่วนใหญ่จึงต้องมาจากภาคเอกชน ภาครัฐต้องจัดโครงสร้างสิ่งจูงใจ (Incentive Structure) ที่เอื้อให้เอกชนกล้าลงทุนในโครงการ/อุตสาหกรรมที่ลดโลกร้อน การเก็บภาษีคาร์บอนและคาร์บอนเครดิตเป็นก้าวแรก ที่สำคัญกว่านั้นคือ การยกเลิกการอุดหนุนคาร์บอน (Carbon Subsidies) ที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน

ประการที่สอง การจัดทำข้อมูลสารสนเทศ การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนอย่างเป็นมาตรฐานและมีการรับรอง รวมทั้งการจัดกลุ่ม/นิยามกิจกรรมที่ลดโลกร้อน (Green Taxonomy) จะช่วยให้ตลาดการเงินและสถาบันการเงินทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและจัดสรรทรัพยากรอย่างตรงเป้ามากขึ้น

ตลาดการเงินและธนาคารพาณิชย์เริ่มนำผลิตภัณฑ์สีเขียวมาให้บริการบ้างแล้ว สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มเป็นที่นิยม กองทุน ESG มีจำนวนมากขึ้นและได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ แม้ว่ายังไม่ชัดเจนว่าหลักเกณฑ์ ESG ของตลาดกับเป้าหมายการลดคาร์บอนจะตรงกันหรือไม่ หรือบางทีอาจขัดแย้งกันด้วยซ้ำ และอาจนำไปสู่การฟอกเขียว (Greenwashing)

ในสาขาพลังงาน ซึ่งเป็นสาขาที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุด ปัจจุบันยังมีโครงสร้างที่พึ่งพา Fossils อยู่ค่อนข้างสูง กล่าวคือ การผลิตพลังงานไฟฟ้าในไทยยังอาศัยก๊าซธรรมชาติและถ่านหินเป็นตัวขับเคลื่อนถึงกว่า 80% และใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นสัดส่วนน้อย ดังนั้นภาคพลังงานจึงมีความจำเป็นต้องลงทุนอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งจากภาครัฐในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและระบบสายส่ง และภาคเอกชนในรูปแบบโรงไฟฟ้า IPP SPP และ VSPP รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย

การลงทุนและการแบ่งรับภาระความเสี่ยงระหว่างรัฐกับเอกชนร่วมกันในรูปแบบ PPP น่าจะเป็นทางออกสำคัญ IPP และ SPP เป็นโมเดลความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับเอกชนที่ประสบความสําเร็จมาแล้วในภาคพลังงาน มีความเป็นไปได้ที่จะขยาย PPP ในโครงการลดคาร์บอนในสาขาอื่นๆ ด้วย

ตลาดการเงินและสถาบันการเงินระหว่างประเทศมีเครื่องมือทางการเงินมากมายที่สามารถเสริมทรัพยากรในประเทศได้ รัฐบาลประเทศร่ำรวยประกาศใน COP 28 สนับสนุนงบประมาณแก่ประเทศกำลังพัฒนา 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีบริการพิเศษที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุนในโครงการลดคาร์บอนในประเทศกำลังพัฒนา

ประการสุดท้าย ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่โลกสีเขียว ย่อมมีกลุ่มเปราะบางที่อาจไม่สามารถรับมือกับผลกระทบได้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะนำรายได้ที่จัดเก็บได้เพิ่มเติมจากภาษีคาร์บอนไปช่วยเป็นมาตรการรองรับทางสังคมแก่กลุ่มคนเหล่านี้

24 มีนาคม พ.ศ. 2565 ‘กรมพระศรีสวางควัฒนฯ’ พระราชทานพระโอวาทแก่บัณฑิต ม.เกษตรศาสตร์ “ผู้มีความกตัญญูรู้คุณ ย่อมปรารถนาที่จะตอบแทนคุณในทางที่ดีที่ชอบ”

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2565 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปยังคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตบางเขน ทรงเปิดอาคารศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ 60 พรรษา ซึ่งสร้างขึ้นเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงได้รับการยกย่องเป็นเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา รวมถึงในโอกาสการสถาปนา คณะวิทยาศาสตร์ครบรอบ 50 ปี โดยได้รับพระราชทานนาม จากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พร้อมกับพระราชทานพระอนุญาต ให้เชิญอักษรพระนาม จภ. ประดับที่อาคาร โดยเป็นอาคารคู่ สูง 6 ชั้น และ 12 ชั้น ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2561

ภายในมีการออกแบบ ให้เป็นอาคารต้นแบบประหยัดพลังงาน ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสถานที่จัดการเรียนการสอน รองรับงานปฏิบัติการค้นคว้าวิจัย และการจัดประชุมสัมมนา ตลอดจนการดำเนินงานอื่นๆ ของคณะวิทยาศาสตร์ ในการส่งเสริมการผลิตบัณฑิต ที่มีศักยภาพสูง มีความพร้อมในการทำงาน และสร้างสรรค์คุณค่าให้เกิดประโยชน์ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ และการจัดการเทคโนโลยี ที่รวบรวมผลงาน ด้านวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่น ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ แก่บุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมชุมชนและสังคม ให้นำความรู้ไปเป็นแบบอย่างในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ทางการเกษตร อาหาร พลังงาน สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนต่อไป

จากนั้น เวลา 13.37 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เสด็จแทนพระองค์ ไปยังอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2563 เป็นวันที่ 4 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีผลงานดีเด่น เข้ารับพระราชทานปริญญา ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 1 คน มีผู้สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรี จากคณะศึกษาศาสตร์, คณะเศรษฐศาสตร์ ศรีราชา, คณะวิศวกรรมศาสตร์ ศรีราชา, คณะพาณิชยนาวี-นานาชาติ, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, คณะวิทยาการจัดการ และคณะวิทยาศาสตร์ ศรีราชา เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร รวม 1,714 คน

โอกาสนี้ พระราชทานพระโอวาท ความสำคัญตอนหนึ่งว่า "ในวันนี้ ใคร่จะกล่าวเพิ่มเติม ถึงคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง อีกประการหนึ่ง คือความกตัญญู ความกตัญญูนั้น หมายถึง ความตระหนักรู้ถึงคุณความดี ของบุคคลต่าง ๆ และสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น ว่าบิดามารดาและผู้ปกครอง ซึ่งให้ชีวิตและเลี้ยงดูมา ครูบาอาจารย์ ซึ่งถ่ายทอดสรรพวิชา และอบรม บ่มนิสัย สังคมและชาติบ้านเมือง ซึ่งเป็นที่อยู่ที่อาศัย และประกอบอาชีพการงาน ผู้มีความกตัญญูรู้คุณ ย่อมปรารถนาที่จะตอบแทนคุณ ด้วยการประพฤติตน ปฏิบัติงานแต่ในทางที่ดีที่ชอบ ก่อให้เกิดผลดี ที่พึงประสงค์ คือความเจริญมั่นคง ทั้งในชีวิตและกิจการงาน พร้อมทุกส่วน จึงขอให้บัณฑิตทุกคน พิจารณาคุณค่าของความกตัญญู ให้ทราบชัด แล้วตั้งใจปลูกฝัง สร้างเสริมคุณธรรมข้อนี้ให้งอกงาม"

เปิดใจ 'วิชัย ทองแตง' ลั่น!! ขอใช้ทั้งชีวิตจากนี้ตามรอย 'ศาสตร์พระราชา' พร้อมผุด 'หยุดเผา-เรารับซื้อ' แก้โลกเดือด แถมช่วยเกษตรกรมีรายได้ยั่งยืน

รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ คุณวิชัย ทองแตง ทนายคนดังสู่มหาเศรษฐีของไทย ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในปัจจุบัน ในหัวข้อ 'บุกตลาดคาร์บอนเครดิต แก้ปัญหาโลกเดือด'

คุณวิชัย กล่าวว่า ในเรื่องสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องกระตุ้นเตือนในทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเดิมครอบครัวของตนเป็นครอบครัวที่ปลูกฝังเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อมมายาวนาน โดยหลักง่ายๆ ที่วิชัยใช้สอนลูกหลาน คือ 4R ได้แก่ Rethink, Recycle, Reuse และ Reduce 

- Rethink ต้องคิดใหม่ว่าโลกใบนี้ห้อมล้อมเรา เราต้องอยู่กับโลกใบนี้ให้ได้ 
- Recycle การนำเอาวัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้งานแล้วมา 'แปรรูป' กลับเอามาใช้ใหม่ได้ 
- Reuse ง่ายกว่าเรื่องใดๆ เพียงแค่นำมาใช้ซ้ำอีกครั้งโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการอะไร 
- ส่วน Reduce พยายามใช้ทรัพยากรให้น้อยหรือลดการใช้ เมื่อมาถึงเวลานี้ไม่ใช่เรื่องโลกร้อนธรรมดาแล้วแต่เป็นโลกเดือด

เมื่อถามว่า อะไรเป็นแรงผลักดันทำให้คุณวิชัยสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม? คุณวิชัยตอบว่า "ผมจะไม่เพิกเฉยกับเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้ ปัจจุบันครอบครัวเราได้ตั้งมูลนิธิหนึ่งน้ำใจขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาสตามชายแดน โดยปัจจุบันได้สร้างโรงเรียน 19 แห่ง ซึ่งล้วนเดินทางยากลำบากมาก 

"ขณะเดียวกัน ในช่วงตลอดระยะเวลา 19 ปี ที่ทีมงานของเราได้ขึ้นลงไปสำรวจในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่องนั้น ก็ทำให้ได้รับรู้ปัญหาอื่นที่ควบคู่ ผ่านความรู้สึกของชาวบ้านที่พูดถึงมหันตภัยสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ ซึ่งเราก็ช่วยเท่าที่ช่วยได้ แต่พอจังหวัดเชียงใหม่เกิดปัญหามีค่าฝุ่น PM 2.5 ขึ้นอันดับหนึ่งของโลก ผมรับไม่ได้ เลยพูดคุยถึงแนวคิด 'โครงการหยุดเผา เรารับซื้อ' ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากมองเห็นว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ชาวบ้านเผาป่า เราก็เลยคิดว่าทำอย่างไรให้ชาวบ้านหยุดเผา"

คุณวิชัย เผยว่า "วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้ คือ แปลงเป็นเงิน เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นไปในตัว โดยนำสิ่งที่จะเผา เช่น วัสดุทางการเกษตรทั้งต้นทั้งซังมาขายให้กับเรา ด้วยการให้นักธุรกิจในพื้นที่รวบรวมจากชาวบ้านแล้วส่งมาที่โรงงาน จากนั้นทางโรงงานก็จะแปรรูปเป็นชีวมวลอัดเม็ด (Biomass Pallets) ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น"

คุณวิชัย มองว่า ตรงนี้ถือเป็นการสร้างวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยมองไปที่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งมีตลาดขนาดใหญ่และมีความต้องการสูงในเรื่องนี้ เช่น ประเทศญี่ปุ่นประเทศเดียวก็มีความต้องการ 10 ล้านตันต่อปีแล้ว และต้องการเซ็นสัญญายาวล่วงหน้า 20 ปี 

"หัวใจของธุรกิจนี้คือ ต้องมีวัสดุเหลือใช้มากพอเข้ามาป้อนโรงงาน จึงอยากให้นักธุรกิจในท้องถิ่นได้มีส่วนช่วยในการรวบรวมเศษวัสดุมาให้เรา ส่วนความคืบหน้าของโครงการฯ ตอนนี้เรามีหนึ่งโรงงานที่ อำเภอจอมทอง ส่วนโรงงานที่สองน่าจะเกิดขึ้นที่ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่"

คุณวิชัย เล่าอีกว่า "รู้สึกเสียดายที่โครงการนี้เกิดขึ้นได้ช้า เพราะหลักๆ เราใช้โมเดลที่ไม่ได้พึ่งพางบประมาณของรัฐบาลเลย โดยระดมทุนสร้างโรงงานมูลค่า 300 ล้านบาท รับซื้อแบบไม่จำกัด ซึ่งการรับซื้อก็ช่วยสร้างความยั่งยืนในระดับหนึ่ง แต่เราต้องเติมความยั่งยืนให้กับชาวบ้านอีกว่า เงินของชาวบ้านจะสามารถเพิ่มพูนงอกเงยขึ้นได้อีกอย่างไร...

"อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผมได้คุยกับทาง กฟผ. แล้ว ถ้าเราสามารถสร้างโรงงานพร้อมกันได้ 10 แห่ง ภายในปี พ.ศ. 2568 ปัญหาเรื่อง PM 2.5 ก็น่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากทางภาคเหนือแล้ว ตอนนี้เรามีการขยายไปทางภาคใต้ด้วย เช่น การพัฒนาสนามกอล์ฟรูปแบบ Carbon Neutral ที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นสนามกอล์ฟ Carbon Neutral อันดับที่ 2 ของเอเชียรองจากประเทศสิงคโปร์ และทีมงานยังได้ศึกษาต้นปาล์มด้วยว่าสามารถนำมาทำ Pallets ได้ไหมสรุปว่าสามารถทำได้ก็จะขยายความร่วมมือและต่อยอดต่อไป"

เมื่อถามถึงภาพรวมของตลาดคาร์บอนเครดิตในไทย? คุณวิชัยกล่าวว่า "องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการเดินหน้าเป็นอย่างดี และมีการสร้างแพลตฟอร์มซื้อขายตลาดคาร์บอนเครดิตขึ้นเช่นกัน ผมได้เจอนักธุรกิจสิงคโปร์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากกองทุน 'เทมาเส็ก' หรือกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของสิงคโปร์ โดยกำลังทำแพลตฟอร์มด้านคาร์บอนเครดิตระดับเอเชีย จึงอยากขอให้ไทยมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งเขาก็ตอบรับและเข้ามาประชุมแล้ว เรียกว่ามีโอกาสสูงที่จะได้ร่วมมือกัน เพราะทางสิงคโปร์เองก็ต้องการคาร์บอนเครดิตอีกมาก ถือเป็นโอกาสของประเทศไทย"

เมื่อถามถึงทิศทางการเติบโตคาร์บอนเครดิตในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป? คุณวิชัยกล่าวว่า "ผมมองเห็นการเติบโต เราสามารถแปลงวิกฤตเป็นโอกาสและสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับเกษตรกรไทยทั่วประเทศได้ วัตถุดิบทางการเกษตรที่เหลือใช้หลายอย่างสามารถแปลงเป็นภาชนะที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมได้ ยกตัวอย่าง บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อแบรนด์ 'เกรซ' สามารถนำวัสดุทางการเกษตรที่เหลือใช้ เช่น ซังข้าว, ข้าวโพด, อ้อย และอื่นๆ มาแปลงเป็น ถ้วยชาม หลอด รักษ์โลก เราจึงพยายามเชื่อมโยงบริษัทฯ นี้กับพื้นถิ่นที่เรากำลังจะสนับสนุนด้านคาร์บอนเครดิต...

"เมื่อก่อนเราผลิตเพื่อทดแทนพลาสติก แต่ไม่สามารถทดแทนได้หมดเนื่องจากราคาสูง ปัจจุบันสามารถทำราคาได้ใกล้เคียงกับพลาสติกแล้ว ต่างกันแค่ 20-30% และสามารถเคลมคาร์บอนเครดิตได้ สร้างความยั่งยืนได้ เมื่อย่อยสลายสามารถกลายเป็นปุ๋ยได้ และยังฝังเมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่นไว้ในผลิตภัณฑ์ทำให้กลายเป็นต้นไม้ได้อีก สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ ซึ่งเป็นความคิดของคนไทยที่น่าภาคภูมิใจ...

"ส่วนการขยายไปยัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เกิดจากได้ทราบแนวคิดของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งจะเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยกับมาเลเซีย เลยมีแนวคิดนำคาร์บอนเครดิตลงไปแนะนำในท้องถิ่น ซึ่งถ้า SEC เกิดขึ้นจริง พื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีศักยภาพสูงพอที่จะสามารถลงทุนพัฒนาได้ในอนาคต"

เมื่อถามถึงเรื่อง BCG? คุณวิชัย เผยว่า "เราสนใจมานานแล้ว นักธุรกิจควรเน้นเรื่อง ESG (Environmental, Social, Governance) เป็นหลักโดยเฉพาะกองทุน ESG ต้องเชื่อมโยงกับกองทุนเหล่านี้ให้เร็วที่สุด ซึ่งเราก็พึ่งเริ่มทำ โดยพยายามถ่ายทอดความรู้ในเรื่องนี้ในการบรรยายให้กับธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์ให้สนใจเรื่องนี้ เพื่อให้ธุรกิจนั้นเป็น ESG ด้วยหลักคิดง่ายๆ 4 ประการ ได้แก่ Net Zeo, Go Green, Lean เหลื่อมล้ำ, ย้ำร่วมมือ เป็นการสร้างคุณค่าใหม่ให้กับประเทศตาม Passion ของผม เกษตรกรต้องไม่จน"

เมื่อถามถึงความคืบหน้าจากโครงการ 'กวี คีตา อัมพวาเฟส' ที่ผ่านมา? คุณวิชัย กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากแรงบันดาลใจเนื่องจากตนเป็นเขยสมุทรสงคราม มีความผูกพันกับแม่น้ำแม่กลอง ชอบธรรมชาติและใส่ใจในสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์สร้างโมเดล Cultural Carbon Neutral Event แห่งแรกของไทยและของโลก ด้วยการจัด Event วัฒนธรรมและสอดแทรกเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย 

"ผมอยากให้เกิดโมเดลแบบนี้ไปทั่วประเทศ จึงเกิดการต่อยอดโดยหลานทั้งสองของผม อายุ 16 ปีและอายุ 14 ปี ที่มีความคิดอยากทำตาม Passion ของปู่ ในเรื่องสิ่งแวดล้อม Carbon Neutral ให้ยั่งยืนต่อเนื่องกับอัมพวาจริงๆ ก็เลยมีแนวคิดเปลี่ยนเรือในคลองอัมพวา จากเรือสันดาปใช้พลังงานน้ำมัน เป็นเรือใช้พลังงานไฟฟ้า โดยจะเริ่มจากคลองเฉลิมพระเกียรติ หรือคลองบางจาก ใน Concept Net Zero อัมพวา อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งหลานๆ เกิดความสำนึกต่อการรักษ์โลกใบนี้ก็ถือว่าเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งแล้ว...

"ขณะเดียวกัน ก็มี 'สวนสมดุล' ที่เกิดจากลูกชายคนเล็กของผม ที่ขอไปเป็นเกษตรกรตามรอยศาสตร์พระราชา ทุกตารางนิ้วในสวนเป็น Organic ทั้งหมด ไม่ใช้สารเคมีเลย โดยมุ่งหวังสร้างผลิตภัณฑ์มาตรฐานไทยขึ้นมาซึ่งคุณภาพไม่ได้ด้อยกว่าออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เช่น ครีมอาบน้ำ น้ำยาล้างจาน เป็นต้น รวมถึงยังเลี้ยงผึ้งชันโรง และตั้งรัฐวิสาหกิจชุมชนอย่างแท้จริง"

เมื่อพูดถึงศาสตร์พระราชาถูกมาใช้ในการบริหารธุรกิจอย่างไร? คุณวิชัยกล่าวว่า "หลังจากผมประกาศว่าเมื่อผมอายุครบ 70 ปี อยากทำตาม Passion ตัวเอง 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1.เกษตร 2.การศึกษา 3.ร้านค้าปลีกโชห่วยที่ได้รับความเดือดร้อน ผมก็ได้เดินสายบรรยายไปทั่วประเทศ แต่ทุกครั้งที่เดินสาย ถ้ามีโอกาสผมจะพูดถึงปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีความลึกซึ้งถ้าเรียนรู้และนำไปปรับใช้อย่างแท้จริงแล้ว เราจะไม่ได้เพียงการดำรงชีวิตที่อยู่ได้ แต่เรายังสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจที่ตัวเองทำ...

"ในหลวงท่านไม่ได้ปฏิเสธเรื่องเทคโนโลยี แต่แนวคิดท่านทำให้คนเริ่มบาลานซ์เทคโนโลยีกับวิถีชีวิตจริง วิถีเกษตรกรรมที่สามารถสร้างผลตอบแทนมาที่ตัวเราได้โดยไม่ต้องต่อต้านเทคโนโลยี แต่ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ อย่างเด็กเกษตรที่ผมเคยบรรยายก็ได้ตระหนักถึงปรัชญานี้ ผมจึงมีโครงการมาตรฐานการเกษตรที่ชลบุรีบ้านเกิดผม โดยจะแนะนำเทรนด์เรื่องการบริหารฟาร์มและสร้างหลักสูตรที่เรียกว่า 'เกษตรหัวขบวน' เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาให้เข้าใจเรื่องการบริหารจัดการฟาร์ม เข้าใจแผนงานการตลาดและความต้องการของตลาดในปัจจุบัน"

เมื่อถามถึงเป้าหมายสำคัญของ คุณวิชัย ที่สอดคล้องไปกับฉายา Godfather of Startup ว่าคืออะไร? คุณวิชัย เผยว่า ปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าเด็กไทยเก่งมาก แต่ขาดเวทีในการแสดงความสามารถ ซึ่งตนประกาศว่ากำลังตามหายูนิคอร์นตัวใหม่ วันนี้จึงขอฝากถึงทุกภาคส่วน เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มากขึ้น เพื่อที่จะทำให้ไทยพบช้างเผือกในป่าลึก กล้าคิด กล้าทำ กล้านำเสนอ ซึ่งจะสร้างความภาคภูมิใจให้ประเทศไทยได้ในอนาคต ขณะเดียวกันก็ฝากถึงนักธุรกิจที่อยากประสบความ ก็ต้องยึดหลัก กล้าคิด กล้าทำ กล้ารับผิดชอบ ด้วย

"สิ่งหนึ่งที่เด็กไทยมักจะขาดก็คือความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในกระบวนการต่างๆ เช่น Collaboration, Connectivity, M&A ในการเริ่มต้นอย่าคิดว่าเก่งคนเดียวต้อง Collaboration ถ้าเก่งบวกเก่ง กลายเป็นซุปเปอร์เก่งเลย เราต้องทำให้สินค้าบริการให้ครบวงจร อย่ามอง Hedge Fund อย่างเดียว อาจไม่ยั่งยืน และต้องมีเป้าหมายยิ่งใหญ่ อย่าทำผ่านๆ ไป เป้าหมายจะไปที่ไหน ต้องเขียน Roadmap อย่างไร ถามว่าคุณวิชัยเคยล้มเหลวไหม คุณวิชัยตอบว่า เยอะมาก จำไว้เลยนะครับว่าไม่มีใครสำเร็จอย่างเดียว และไม่มีใครล้มเหลวอย่างเดียว ความล้มเหลว คือ บทเรียนที่คุ้มค่าให้เราเรียนรู้ได้เสมอ อย่ากลัวความล้มเหลว"

คุณวิชัย ฝากทิ้งท้ายบทสัมภาษณ์นี้อีกด้วยว่า "ประเทศนี้ให้ผมมาเยอะแล้ว ผมต้องสร้างคน สร้างธุรกิจใหม่ๆ พร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า เพื่อคืนให้กับสังคม คืนให้กับประเทศชาติจนกว่าชีวิตผมจะหาไม่ ซึ่งเวลาผมไปบรรยายต้องให้ผู้ฟังช่วยปฏิญาณไปกับผมด้วยเสมอ คือ 1.เราจะไม่ใช้เทคโนโลยีเพื่อโกงหรือหลอกลวงผู้อื่น 2.เราจะเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดีมีคุณธรรม 3.เราจะแบ่งปันความรู้และโอกาสให้แก่ผู้ที่ด้อยกว่า เป็นสิ่งที่ผมอยากปลูกฝังระบบคุณธรรมให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป"

23 มีนาคม พ.ศ. 2277 วันคล้ายวันพระราชสมภพ ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช’ ผู้นำทัพปราบข้าศึกพม่าและสถาปนา ‘อาณาจักรธนบุรี’

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระนามเดิมว่า สิน เป็นคนไทยเชื้อสายจีน เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ก่อตั้งอาณาจักรธนบุรี และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวของราชอาณาจักรธนบุรี พระองค์ทรงพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2277 ตรงกับปีขาล ขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 จุลศักราช 1096 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา

เดิมพระองค์เป็นนายทหารในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ต่อมา พ.ศ. 2310 เกิดการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระองค์ได้เป็นผู้นำขับไล่ทหารพม่าที่ยึดครองกรุงศรีอยุธยาอยู่ในเวลานั้น และได้ปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาอีก 7 เดือนถัดมา โดยพระองค์ย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงธนบุรี และรวบรวมแผ่นดินซึ่งมีขุนศึกก๊กต่าง ๆ ปกครองให้กลับเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง เช่นเดียวกับการขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง 

นอกจากนี้ ยังทรงฟื้นฟูราชอาณาจักรในด้านต่าง ๆ ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติหลังสงคราม ทั้งส่งเสริมกิจการด้านเศรษฐกิจ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม และการศึกษา ภายหลังรัฐบาลไทยประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปีเป็น ‘วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน’ และยังทรงได้รับสมัญญานามมหาราช

พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เมื่อพระชนมพรรษา 48 พรรษา หลังถูกสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งเป็นพระสหายสำเร็จโทษ และสืบราชสมบัติต่อเป็นต้นราชวงศ์จักรีในปัจจุบัน รวมเวลาครองราชย์ 15 ปี พระองค์มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น 30 พระองค์ พระองค์ทรงเป็นวีรกษัตริย์ของชาติไทยที่ประชาชนรู้จักดีและเป็นที่เคารพสักการะมากที่สุดพระองค์หนึ่ง นอกจากนี้ยังมีพระบรมราชานุสรณ์ของพระองค์มีประดิษฐานมากที่สุด

22 มีนาคม พ.ศ. 2455 ‘ในหลวง ร.6’ ทรงโปรดเกล้าฯ ‘พระราชบัญญัติขนานนามสกุล’ ขึ้นครั้งแรก กำหนดให้คนไทยมีชื่อตัว-ชื่อสกุล ง่ายต่อการทำทะเบียนเกิด-สมรส-ตาย

ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะนั้นประเทศสยามยังไม่มีการใช้ ‘นามสกุล’ ดังนั้นจึงมีเพียงชื่อที่บิดามารดา หรือผู้เป็นที่เคารพนับถือตั้งให้ การจะรู้ว่าใครเป็นใครจึงต้องจำแนกจากรูปลักษณ์ หรือต้องถามว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใครและตั้งบ้านเรือนที่ใด ดังเรียกกันว่า ‘ฉายา’

ซึ่งการไม่มีชื่อสกุลประจำตระกูลนี้ เป็นเหตุให้เกิดความขัดข้องยุ่งยากต่าง ๆ นานัปการ ไม่ว่าทางราชการหรือทางส่วนตัว หรือในการปกครองบ้านเมืองก็ดี ในระหว่างสังคมมนุษย์ย่อมสับสนอลเวงเป็นอันมาก ถ้าญาติผู้น้อยไม่รู้จักญาติผู้ใหญ่ ใครอาวุโสทางศักดิ์ญาติก็แทบนับกันไม่ถูก หรือไม่รู้จักลำดับสูงต่ำในสกุลกำเนิดของตนเอง ที่ควรใกล้ชิดกลมเกลียวกันก็เป็นเหินห่าง ไม่อาจรวมกันติด ไม่มีการติดต่อรวบรวมกันเป็นหมู่เหล่า ต่างครอบครัวต่างตั้งตนเป็นเอกเทศหมด ไม่มีใครรักใคร่นับถือเชิดชูใคร ใครก็ไม่ช่วยเหลือใคร นาน ๆ เข้าก็อาจถึงกลับกลายเป็นอื่นกันไปทั้งสิ้น หรือกลับไปรวมอยู่แต่กับสิ่งใกล้ชิดที่ไม่มีสายสัมพันธ์กัน โดยไม่เคยคำนึงถึงการสืบสกุลรุนชาติ นานหนักเข้าก็อาจทำให้ชาติไทยแตกแยกกันทีละน้อยๆ จนถึงสลายตัวไปในที่สุด นอกจากนั้นในทางปกครองหรือทางศาล ซึ่งเกี่ยวกับจะต้องให้ความคุ้มครอง ความยุติธรรมตลอดจนการลงโทษหรือในกรณีอื่น ๆ ก็เช่นกัน

ด้วยเหตุดังกล่าวมาแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน “พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พระพุทธศักราช 2456” เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2456 เพื่อให้คนไทยทุกคนต้องมีชื่อตัวและชื่อสกุลให้แพร่หลายทั่วถึงพลเมือง ตลอดทั่วพระราชอาณาจักร เพื่อที่จะได้ทราบรูปพรรณสัณฐานบุคคล และเทือกเถาเหล่ากอสืบมาแต่บิดามารดาใด เพื่อที่จะได้จัดทำทะเบียนคนเกิด คนตาย และการจดทะเบียนสมรสไว้เป็นหลักสืบไป

21 มีนาคม พ.ศ. 2497 วันเกิด ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย ‘ผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน-สร้างความเจริญ’ ให้กับประเทศไทยตลอด 9 ปี

‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ หรือที่คนไทยทั้งประเทศรู้จักในนาม ‘ลุงตู่’ นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย และเป็นหนึ่งในนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

ทั้งนี้ ‘ลุงตู่’ เกิดที่ จ.นครราชสีมา เป็นบุตรชายของพันเอก (พิเศษ) ประพัฒน์ จันทร์โอชา และเข็มเพชร จันทร์โอชา มารดาซึ่งรับราชการครู เป็นบุตรชายคนโตจากพี่น้องทั้งหมด 4 คน โดยคนหนึ่งคือ พลเอก ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหมและอดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

สำหรับประวัติการศึกษาของ ‘ลุงตู่’ ได้สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 จากโรงเรียนสหะกิจวิทยา อำเภอเมือง จ.ลพบุรี (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยเทคโนโลยีลพบุรี) ต่อมาได้เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย อำเภอเมือง จ.ลพบุรี แต่เรียนได้เพียงปีเดียวก็ลาออก เนื่องด้วยบิดาเป็นนายทหารจำต้องโยกย้ายไปในหลายจังหวัด และได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ในสมัยที่ศึกษาอยู่ที่นี่ ‘ลุงตู่’ เคยถูกนำเสนอประวัติผ่านนิตยสารชัยพฤกษ์ ในฐานะเด็กเรียนดีอีกด้วย จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และในปี พ.ศ. 2514 ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร จนสำเร็จเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 (ตท.12) และในปี พ.ศ. 2519 เป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23 และหลักสูตรชั้นนายร้อย รุ่นที่ 51 ในปีเดียวกัน และในปี พ.ศ. 2524 หลักสูตรชั้นนายพัน รุ่นที่ 34 และในปี พ.ศ. 2528 หลักสูตรหลักประจำโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 63 และเป็นศิษย์เก่า และในปี พ.ศ. 2550 เข้าเรียนหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 2

สำหรับเส้นทางทางการเมือง ‘ลุงตู่’ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ภายหลังจากได้ตัดสินใจเข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลรักษาการ (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เมื่อ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. กระทั่งมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562

และเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ภายหลังการประชุมร่วมรัฐสภา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกรัฐสภา ให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง (สมัยที่ 2)

แม้จุดเริ่มต้นของการนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 จะมาจากการทำรัฐประหาร แต่ ‘ลุงตู่’ ก็พิสูจน์ให้พี่น้องคนไทยทั้งประเทศเห็นแล้วว่าตั้งใจเข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติ โดยได้มุ่งมั่นทำงานแรงกาย สร้างความเจริญ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างให้แก่ประเทศไทย ตลอด 9 ปีที่ทำหน้าที่ ‘ผู้นำประเทศ’

และนี่คือ 9 เรื่องดี ๆ ที่ ‘ลุงตู่’ ได้ฝากไว้ให้คนไทยทั้งประเทศ

1. กำหนด ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ ระยะยาว 20 ปี เพื่อเป็นเข็มทิศนำทางและกรอบแนวคิดในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ให้เกิดความต่อเนื่อง เป็นเป้าหมายให้ทุกภาคส่วนได้ทำงานร่วมกัน ขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกระดับ 

2. ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมครั้งยิ่งใหญ่ ในทุกระบบ ทั้งทางถนน ทางราง ทางทะเล และทางอากาศ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต ยกบทบาทของประเทศจากความโดดเด่นทางภูมิรัฐศาสตร์ ให้เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ ด้านการบิน ด้านการขนส่งสินค้า ด้านการท่องเที่ยว ฯลฯ

3. สร้างความพร้อมเรื่อง ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ และ ‘เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม’ โดยมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล และ 5G ที่โดดเด่นในภูมิภาค เป็นที่ดึงดูดการลงทุนบริษัทชั้นนำของโลกหลายราย ซึ่งจะส่งเสริมบทบาทให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้าน 5G - Data center - Cloud services ที่สำคัญในภูมิภาค มีการใช้ประโยชน์ของประชาชนในชีวิตประจำวัน การศึกษาหาความรู้ การประกอบอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนและสร้างรายได้ที่สูงขึ้นของคนทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพ  

4. กำหนด 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมทั้งมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตส่งเสริมเศรษฐกิจเพื่อกิจการพิเศษ ทั้งด้านการแพทย์ ด้านนวัตกรรม ด้านดิจิทัล เป็นต้น ที่เป็นแหล่งบ่มเพาะแรงงานทักษะสูง-แรงงานแห่งอนาคต รวมถึงเกษตรอัจฉริยะ เพื่อตอบสนองตลาดแรงงานในอนาคต และการพัฒนาประเทศในศตวรรษที่ 21

5. สร้างกลไกในการบริการจัดการทรัพยากรที่สำคัญของชาติ ได้แก่ 

-‘น้ำ’ ออกกฎหมายน้ำฉบับแรกของประเทศ มีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บูรณาการหน่วยงานน้ำในทุกระดับ 

-‘ดิน’ ตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และจัดทำแผนที่ One Map เพื่อแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนมาหลายสิบปี รวมทั้งจัดสรรที่ดินทำกินให้กับผู้ยากไร้-เกษตรกร 
-
‘ป่า’ ออกกฎหมายป่าชุมชน ไม้มีค่า และตลาดคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ

6. พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่น ส่งเสริมสวัสดิการกลุ่มเปราะบางทั้งเด็ก-ผู้สูงอายุ-ผู้พิการ ส่งเสริมบทบาทกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กองทุนยุติธรรม และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และการยกระดับศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้วยการศึกษา รองรับความท้าทายใหม่ ๆ ของโลกในอนาคต

7. ปฏิรูปกฎหมายไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน อำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และดึงดูดการลงทุนเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ รวมทั้งแก้ไขและบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล สามารถแก้ไขวิกฤตชาติได้ในหลายเรื่อง เช่น ปลดธงแดง ICAO และแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย IUU สร้างความเชื่อมั่นประเทศไทยในเวทีโลก 

8. ประยุกต์เทคโนโลยีที่ทันสมัยในระบบราชการไทย เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ประชาชนและเอกชน ที่เข้าถึงง่าย - สะดวก - โปร่งใส เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ช่วยให้การจ่ายเงินช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางตรงเป้าหมาย เต็มเม็ดเต็มหน่วย ตรวจสอบได้ และ UCEP สายด่วน 1669 บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ฟรีทุกสิทธิ์ ทุกโรงพยาบาล เป็นต้น

9. สร้างความสัมพันธ์ทั่วโลก ทั้งในรูปแบบทวิภาคี-พหุภาคี และเขตการค้าเสรี (FTA) รวมทั้งรื้อฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย เพื่อขยายความร่วมมือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และตลาดการค้าระหว่างกัน

ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นได้ภายใต้การบริหารประเทศของ ‘ลุงตู่’ และแม้การเดินทางของประเทศไทยในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา จะไม่ได้ราบรื่น หรือง่ายดาย ซ้ำยังคงมีวิกฤตโควิด วิกฤตความขัดแย้งในโลก ที่ส่งผลกระทบด้านราคาพลังงาน ค่าครองชีพ และเงินเฟ้อจนถึงในปัจจุบัน แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนไทย ช่วยให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ และฟื้นตัวมาได้ ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ยังคงผันผวนแปรปรวน

ก็ต้องบอกว่า ‘ประเทศไทย’ นับจากวันนี้เป็นต้นไป จะไม่ได้เริ่มนับที่ 1 อีกต่อไป หากทุกอย่างที่ ‘ลุงตู่’ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สร้างมานั้นได้รับการ ‘ต่อยอด’ ก็จะทำให้ประเทศไทยเดินทางเข้าสู่ ‘เส้นชัย’ ได้เร็ววันยิ่งขึ้น

21 มีนาคม พ.ศ. 2557 ‘ในหลวง ร.9’ เสด็จฯ ติดตามการดำเนินงาน ‘โครงการชั่งหัวมัน’ พลิกฟื้นผืนดินแห้งแล้ง สู่โครงการต้นแบบด้าน ‘การเกษตร’ เพื่อคนไทย

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2557 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปยังโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ อำเภอท่ายาง (เป็นการส่วนพระองค์) ในการทอดพระเนตรโรงเลี้ยงโคนม ทรงป้อนนมโคและทรงป้อนหญ้า พันธุ์แทงโกล่า แก่ลูกโค เพศเมียอายุ 3 เดือน จำนวน 2 ตัว ซึ่งดำเนินงานสนองพระราชดำริ ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนมให้เกษตรกรที่สนใจ และทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ

ทั้งนี้ ก่อนจะมาเป็น ‘โครงการชั่งหัวมัน’ ในอดีตนั้นเป็นพื้นที่ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เคยเป็นดินลูกรัง แห้งแล้ง และเป็นพื้นที่ปลูกไม้ยูคาลิปตัสไว้ตัดขาย มีแปลงปลูกมะนาวเดิมอยู่ประมาณ 35 และ ไร่อ้อยประมาณ 30 ไร่

ปลายปี พ.ศ. 2551 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงซื้อที่ดินจากราษฎร พื้นที่ประมาณ 120 ไร่ ณ บริเวณอ่างเก็บน้ำหนองเสือ บ้านหนองคอไก่ หมู่ที่ 5 ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาปี พ.ศ. 2552 ทรงซื้อแปลงติดกันเพิ่มอีก 130 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมด 250 ไร่ และทรงมีดำริให้ทำเป็นโครงการตัวอย่างด้านการเกษตร รวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงมาปลูกไว้ที่นี่ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา

โดยกองงานส่วนพระองค์ ขอความร่วมมือหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้เข้ามาช่วยกันปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ เช่น การทำถนนเข้าโครงการ ขุดสระเก็บน้ำ ทำรั้วรอบโครงการ ก่อสร้างอาคาร และสาธารณูปโภค ติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ทำระบบชลประทาน ทำให้พื้นที่โครงการ และหมู่บ้านใกล้เคียงมีความเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำหรับชื่อโครงการ ‘ชั่งหัวมัน’ ความหมายนั้นมาจาก ‘การชั่งน้ำหนักมันเทศ’ ตามปฐมเหตุที่รองเลขาธิการพระราชวัง ‘ดิสธร วัชโรทัย’ เล่าไว้ ก่อนจะสาธยายต่อไปถึงแก่นแท้หัวใจอันเป็นที่มาแห่งโครงการพระราชดำริอีกหนึ่งโครงการนี้ที่คนไทยทุกคนต่างทราบกันเป็นอย่างดี

“เหตุผลจริงๆ คือ ขนาดว่าหัวมันที่วางอยู่บนตาชั่งซึ่งเป็น ‘เหล็ก’ ยังสามารถงอกขึ้นมาได้ บนผืนดินที่แห้งแล้ง มันก็ต้องขึ้นได้ ดังนั้น นี่ก็จึงเป็นเหตุผลประการสำคัญที่ทำให้พระองค์ท่านมาซื้อที่ดินที่นี่ ที่หมู่บ้านหนองคอกไก่ ซึ่งแห้งแล้งมากๆ พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ครั้งแรก ผืนดินที่นี่ยังมีแต่ต้นยูคาลิปตัส จะปลูกอะไรก็ลำบาก ติดปัญหาเรื่องน้ำ แต่ก็อย่างที่เราทุกคนคงทราบนั่นล่ะว่าอะไรที่ยากลำบาก พระองค์ท่านทรงโปรด พระองค์ท่านจะทำให้ดูเพื่อพิสูจน์ว่าทำได้ เพื่อจะได้เป็นแม่บท และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมของชาวบ้านที่นี่”

“เมื่อก่อนนั้น ที่ดินแถวนี้ดินไม่ดี พระองค์ท่านทรงเลือกซื้อที่ดินที่ไม่ดี ที่ดินดีทรงไม่โปรด เพราะพระองค์ท่านทรงอยากแก้เรื่องที่ดิน จึงเจาะจงซื้อที่ดินที่มีต้นยูคาลิปตัส เพราะจะได้แก้ปัญหาเรื่องดิน”

แต่ปัจจุบันผ่านมาหลายปีแล้ว ผืนดินที่เคยแห้งแล้งแห่งนี้ ได้แปรสภาพกลายเป็นหนึ่งในโครงการต้นแบบด้านการเกษตร มีการจัดสรรทําการเกษตรทั้งแปลงพืชเศรษฐกิจที่ปลูกหลายชนิด อาทิ สับปะรด มะนาว มะพร้าว ข้าว ฟักทอง มันเทศ พืชผักสวนครัว ยางพารา ฯลฯ 

นอกจากนี้ยังมีฟาร์มโคนม ฟาร์มไก่ และแปลงเกษตรที่จัดเป็นสวนสวยให้ผู้มาเยือนแวะมาเยี่ยมชมเพื่อการท่องเที่ยวศึกษาเรียนรู้ ตลอดจนสร้างกังหันลมผลิตไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค


TRENDING
© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top